จุดเริ่มต้นการทำร้านอาหาร ร้านเครื่องดื่มของหลาย ๆ คนมักเริ่มมาจาก
Passion (แพสชัน) และมักจบลงด้วยคำว่า “เจ๊ง” หรือไม่ก็เหนื่อยแทบตายแต่ไม่มีกำไร Passion ค่อย ๆ หายไปกลายเป็นความทุกข์แทน นั่นเพราะ
การทำร้านอาหารแค่ Passion ไม่พอแต่ต้องมี Mission ด้วย จึงจะมีโอกาสสำเร็จ โดยเฉพาะก้าวแรกก่อนการลงทุน ผู้ประกอบการจะต้องประเมินให้ได้ก่อนว่า
การลงทุนทำร้านครั้งนี้มีโอกาสทำกำไร และคืนทุนได้คุ้มค่าแก่การลงทุนหรือไม่ ซึ่งหลาย ๆ คนอีกเช่นกันไม่ได้ทำสิ่งนี้นั่นหมายความว่า เป็นการลงทุนแบบไม่รู้อนาคต แต่หากว่าที่ผู้ประกอบการได้มีการทำ
วิเคราะห์ความเป็นไปได้ทางการเงิน หรือ Financial Feasibility จะทำให้ประเมินความเป็นไปได้ของการคืนทุน และได้คำตอบเบื้องต้นว่า ควรลงทุนทำร้านหรือไม่
สิ่งแรกต้องรู้คือ แหล่งใช้ไปของเงินทุน 
ข้อมูลชุดแรกที่ว่าที่ผู้ประกอบการต้องใช้เพื่อประกอบการวิเคราะห์ความเป็นไปได้ทางการเงิน คือ
แหล่งใช้ไปของเงินทุนว่าเงินทุนที่มีต้องใช้ไปกับอะไรบ้าง จำนวนสัดส่วนเท่าไหร่ ดังนี้

มาเจาะในรายละเอียดของงบการลงทุนกันสักหน่อยว่า ในการจะกำหนดงบส่วนนี้ และบริหารงบให้ไม่บานปลายจะต้องทำอะไรบ้าง ก่อนอื่นเลยเราต้องรู้ว่า
จะทำร้านแบบไหน คอนเซ็ปต์ร้านเป็นแบบใด กลุ่มลูกค้าเป้าหมายคือใคร ขนาดร้านเท่าไหร่ ต้องใช้เงินลงทุนเท่าไหร่ เป็นข้อมูลตั้งต้นก่อน จากนั้นก็มาดูรายละเอียดปลีกย่อยต่าง ๆ เช่น
ค่ามัดจำ ถ้าหากเป็นที่เช่า ต้องจ่ายค่าเช่าเท่าไหร่ มีค่ามัดจำเท่าไหร่ ซึ่งส่วนใหญ่มักจะพลาดลืมคิดถึงค่ามัดจำทำให้คำนวณเงินลงทุนผิดพลาดไป เช่น เราเตรียมเงินทุนทำร้านไว้ 100,000 บาท แต่ผู้ให้เช่าเรียกเงินมัดจำล่วงหน้า 4 เดือน ๆ ละ 100,000 บาท เท่ากับ 400,000 บาท ปัญหาเกิดทันทีเพราะเราไม่ได้เตรียมเงินส่วนนี้ไว้ ดังนั้นอย่าลืมตรวจสอบเงื่อนไขการเช่าให้ถี่ถ้วน
ค่าออกแบบและตกแต่ง 
ควรตั้งงบประมาณการออกแบบตามวัตถุประสงค์ของการออกแบบร้าน โดยให้ตั้งงบประมาณเงินลงทุนค่าออกแบบ ตกแต่งออก 2 ช่วงงบประมาณ คือ ประมาณการขั้นต่ำ กับ ประมาณการขั้นสูง เพื่อที่เราจะได้มีช่องว่างในการขยับปรับงบประมาณให้เหมาะสมได้
ค่าอุปกรณ์ห้องครัว อุปกรณ์งานบริการต่าง ๆ จะต้องลงรายละเอียดให้ชัดว่าต้องใช้รายการอะไรบ้าง ซึ่งเราสามารถคุยบอกความต้องการของเรากับนักออกแบบภายใน หรือ สถาปนิคเพื่อให้เขาทราบงบประมาณที่เราตั้งไว้ เขาจะได้ออกแบบให้เหมาะกับงบประมาณและอยู่บนพื้นฐานความต้องการของเราด้วย
ค่าสื่อโฆษณา เป็นอีกหนึ่งจุดที่มักจะพลาดไม่ได้คิดกันตั้งแต่แรกของการกำหนดงบ แต่มักจะมาคิดทีหลังทำให้ต้องเพิ่มงบ ส่วนนี้ต้องเคลียร์ให้ชัดเจนแต่แรกเลยว่า จะทำสื่อโฆษณารูปแบบใด ประเภทไหนในสัดส่วนเท่าไหร่ ป้ายหน้าร้านมีลักษณะอย่างไร เป็นต้น
ค่าวัตถุดิบในการเปิดร้าน ข้อนี้ก็เช่นกัน SME ส่วนใหญ่จะควักกระเป๋าจ่ายในภายหลัง ไม่ได้กำหนดไว้ในงบลงทุนแต่แรก ต้องระบุไว้เลยว่า ต้องใช้เงินในการจ่ายค่าวัตถุดิบสำหรับเปิดร้านจำนวนเท่าไหร่ เพื่อจะได้วางแผนจัดการวัตถุดิบได้เหมาะสม
ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ในการเปิดร้าน เช่น สารพัดใบอนุญาต แม้อาจไม่ได้เป็นจำนวนเงินที่มาก แต่ก็ถือว่าเป็นหนึ่งในรายการลงทุนที่ต้องจัดไว้ในงบลงทุนเช่นกัน
ค่าพนักงานก่อนเปิดร้าน ข้อนี้หลายคนอาจเกิดคำถามว่า มีด้วยเหรอร้านยังไม่เปิดทำไมต้องจ่ายค่าจ้างพนักงาน อย่าลืมว่าเราต้องมีการรับสมัครงาน คัดพนักงานเข้ามาเพื่อทำการเทรนนิ่งเขาก่อนเพื่อเตรียมให้พร้อมสำหรับการเปิดร้านก็ต้องจ่ายค่าแรงให้กับเขาด้วย
ค่าสาธารณูปโภคต่าง ๆ ค่าวัสดุสิ้นเปลือง เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่ามัดจำมิเตอร์ ค่ากระดาษ ปากกา อื่น ๆ จิปาถะ ต้องรวบรวมให้หมด
ค่าเงินทุนสำรอง ควรเตรียมส่วนนี้ไว้ด้วย เผื่อไว้ในกรณีเปิดร้านใหม่ ๆ ยังไม่มีลูกค้ารู้จัก รายได้ยังไม่เกิด แต่ค่าใช้จ่ายเกิดทุกวัน ก็ต้องมีเงินทุนสำรองสำหรับนำมาจ่ายค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เพื่อให้ร้านเปิดได้ในระยะเวลาหนึ่ง อย่างน้อยควรมีเงินส่วนนี้กันไว้ 3 เดือนขึ้นไป
ยกตัวอย่างการคำนวนหาอัตราผลตอบแทนจากการลงทุน (ROI) เมื่อทราบแล้วว่า การวิเคราะห์การลงทุนนั้นมีรายละเอียด รายการอะไรบ้างที่ต้องนำมาพิจารณา คราวนี้ลองมายกตัวอย่างให้เห็นภาพกัน สมมติว่าจากข้อมูลต่าง ๆ ที่ผ่านการวิเคราะห์มาแล้วร้าน ๆ นี้ใช้เงินลงทุนไปทั้งสิ้น 9,000,000 บาท โดยจากการเก็บข้อมูลการตลาดพบว่าร้าน ๆ นี้จะมีลูกค้า 3,000 คนต่อเดือน หรือ 100 คนต่อวัน และมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวอยู่ที่ 400 บาท ก็จะเท่ากับว่า ร้านนี้จะมี
รายได้ต่อเดือนเท่ากับ 1,200,000 บาทโดยต้นทุนอาหารของร้านอยู่ 35% เท่ากับ
420,000 บาท มีค่าใช้จ่ายรวมอื่น ๆ เช่น ค่าเงินเดือน ค่าเช่า ค่าน้ำ ค่าไฟ อยู่ที่ประมาณ 500,000 บาท ยอดขายต่อเดือน 1,200,000 บาท ต้นทุนอาหารต่อเดือน 420,000 บาท ค่าใช้จ่ายรวมต่อเดือน 500,000 บาท = กำไรต่อเดือน 280,000 บาท ถ้าเป็นกำไรต่อปี = 3,360,000 บาท
นำข้อมูลนี้มาคำนวณหาอัตราผลตอบแทนการลงทุน (ROI) ดังนี้ สูตรการคำนวณ = กำไรสุทธิ หารด้วย เงินลงทุน คูณด้วย 100 3,360,000 / 9,000,000 = 0.3733 x 100 = 37.33% ต่อปี คำถามคือ 37.33% ต่อปี มันมากหรือน้อย ก็ให้เราลองคิดดูว่า ถ้าเรานำเงิน 9,000,000 บาท ไปฝากธนาคารในอัตราดอกเบี้ยปัจจุบัน หรือนำไปลงทุนในธุรกิจอื่น ๆ เราจะได้ผลตอบแทนต่อปีได้เท่ากับ 37.33% หรือไม่ และถ้าอยากทราบต่อว่าจะคืนทุนในระยะเวลาเท่าไหร่ก็ให้คำนวณ ดังนี้
สูตรการคำนวณระยะเวลาคืนทุน = จำนวนเงินลงทุน หารด้วย กำไรสุทธิเงินลงทุนร้าน 9,000,000 / 280,000 = 32.14 เดือน หรือ 2.68 ปี
ถ้าเราคิดว่าด้วยเงินลงทุน 9 ล้านบาทใช้เวลาคืนทุน 2 ปีกว่า ๆ อยู่ในระดับที่รับได้ก็ลุยลงทุนได้เลย แต่ถ้าคิดว่านานเกินไปอยากให้คืนทุนไวกว่านี้ แนวทางหนึ่งก็ต้องกลับไปทบทวนเงินลงทุนว่าสามารถปรับลดลงได้ระดับใด เป็นต้น
ทั้งนี้ยังมีรายละเอียดอื่น ๆ ที่สำคัญและผู้คิดจะลงทุนทำร้านอาหารควรรู้อีกหลายประเด็น ซึ่งทุกเรื่องมีผลต่อการตัดสินใจลงทุน และการปรับรูปแบบการลงทุนให้เหมาะสมคืนทุนในระยะเวลาที่ต้องการ รายละเอียดทั้งหมดสามารถเรียนรู้เพิ่มเติมได้จาก
หลักสูตรการศึกษาความเป็นไปได้ธุรกิจร้านอาหาร สนในเรียนรู้ฟรี คลิก คลิกอ่านบทความอื่นได้ที่นี่