สาเหตุของการเกิด Food waste ในร้านอาหาร

Oct 01, 2020
อย่างที่เราทุกคนรู้กันดีว่าปัญหาของ Food waste นั้นนอกจากจะกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจในภาพรวมแล้ว ยังส่งผลให้ต้นทุนร้านอาหารสูงขึ้นด้วย
ซึ่งโอกาสที่ร้านจะเกิด Food waste นั้นมีมากมาย ตั้งแต่ขั้นตอนการเลือกวัตถุดิบ การจัดเก็บ การตัดแต่งไปจนถึงการปรุงอาหาร หากเราไม่รู้ถึงที่มาและสาเหตุ ก็จะไม่สามารถวางแผนควบคุม Waste ได้เลย ซึ่งโดยปกติ Food waste ที่มักเกิดในร้านอาหารนั้นมาจาก 5 สาเหตุหลัก ๆ ดังนี้ 
1. การซื้อวัตถุดิบที่มากเกินไป (Overbuying)
Waste ที่เกิดจากการซื้อวัตถุดิบมากเกินไปนั้น มักเกิดจากการขาดการวางแผนการสั่งซื้อ แทนที่ร้านจะมีการคาดการณ์การใช้วัตถุดิบล่วงหน้าจากข้อมูลการขาย กลับสั่งซื้อตามความเคยชินหรือซื้อเผื่อ เพราะกลัวกระทบกับการขาย หากซื้อมาไม่พอกับความต้องการ รวมถึงการซื้อในปริมาณที่มากเพื่อต้องการส่วนลด แต่กลับลืมไปว่าต่อให้ซื้อวัตถุดิบได้ถูกลงแค่ไหน แต่หากวัตถุดิบนั้นหมดอายุก็ถือเป็น Waste ส่งผลให้ต้นทุนวัตถุดิบสูงอยู่ดี 
การแก้ปัญหาสามารถทำได้โดยคาดการณ์การขายล่วงหน้า ผ่านข้อมูลการขายจากระบบ POS รวมถึงการนับสต๊อกอย่างสม่ำเสมอ ก็จะช่วยให้ทางร้านรู้ว่าวัตถุดิบชนิดไหนยังเหลืออยู่ ชนิดไหนใกล้หมด ทำให้สามารถวางแผนการสั่งได้อย่างเหมาะสม
อีกวิธีที่เราจะสามารถรู้ว่าต้องสั่งวัตถุดิบเข้ามาในปริมาณเท่าไหร่ในแต่ละครั้งนั้น คือการหา Par Level Inventory หรือการคำนวณปริมาณการใช้วัตถุดิบในแต่ละรอบการสั่ง ซึ่งจะขึ้นอยู่กับสามปัจจัยที่สำคัญคือ ปริมาณวัตถุดิบเฉลี่ยที่ใช้ในแต่ละสัปดาห์ซึ่งได้จากการนับสต๊อกรายสัปดาห์ รอบการส่งวัตถุดิบในแต่ละสัปดาห์ และ ปริมาณวัตถุดิบเผื่อเหลือเผื่อขาด (Safety Stock) 
2. วัตถุดิบเน่าเสีย (Spoilage) 
ต้นเหตุของวัตถุดิบที่เน่าเสียนั้น เกิดได้หลากหลายสาเหตุ ตั้งแต่การรับวัตถุดิบที่ไม่ได้คุณภาพโดยไม่ได้ตรวจสอบ การเก็บรักษาวัตถุดิบที่ไม่ถูกต้อง หรือ การไม่วางแผนการใช้วัตถุดิบที่มาก่อน ทำให้วัตถุดิบหมดอายุ ทั้งที่หลายร้านพยายามใส่ใจกับการซื้อวัตถุดิบในราคาถูก แต่กลับมาสิ้นเปลืองจากการเก็บรักษาวัตถุดิบที่ไม่ดีพอ
เมื่อเราได้วัตถุดิบมา ควรมีการแยกการเก็บให้เหมาะสมกับแต่ละประเภทโดยทันที ไม่ใช่นำมาอัดอยู่ในตู้เย็นเข้าด้วยกัน เช่น การนำผักที่ซื้อมาใส่ในกล่องพลาสติกอย่างเหมาะสมแทนที่จะใส่ถุงพลาสติกแล้วอัดอยู่ในตู้เย็น ก็จะช่วยให้ลดโอกาสที่ผักจะช้ำลงไปได้
การใช้หลักการ FIFO ( First in-First out) ในการบริหารวัตถุดิบ ก็จะช่วยให้วัตถุดิบที่ถูกสั่งมาก่อนถูกนำไปใช้ก่อน ซึ่งจะต้องมีการแบ่งพื้นที่วัตถุดิบที่ถูกนำเข้ามาก่อนกับหลังออกจากกันอย่างชัดเจน ไม่เช่นนั้นก็อาจเกิดการปะปนกันได้ การใช้สติ๊กเกอร์สีหรือการแปะวันที่บนวัตถุดิบที่เข้ามาคนละวัน ก็เป็นการช่วยให้พนักงานไม่สับสนได้
นอกจากนี้การตรวจเช็คตู้เย็นอย่างสม่ำเสมอว่าทำอุณหูมิได้ตามที่กำหนดหรือไม่ ก็ช่วยยืดอายุวัตถุดิบไม่ให้หมดอายุก่อนที่ควรจะเป็นได้เช่นกัน
3. การตัดแต่งที่มากเกินไป (Over Trimming) 
การตัดแต่งวัตถุดิบที่มากเกินไปนั้น อาจฟังดูแล้วไม่น่ากระทบกับ Waste มากมายเท่าไหร่ แต่แท้จริงแล้วถือเป็นจุดที่เกือบทุกร้านละเลย ทำให้สูญเสียวัตถุดิบมากเกินที่ควรจะเป็น ทั้งที่ยังไม่หมดอายุหรือเน่าเสีย สาเหตุหนึ่งก็เพราะทางร้านไม่เคยมีการกำหนดว่าแต่ละวัตถุดิบควรมีการตัดแต่งยังไง ทำให้พนักงานครัวแต่ละคนก็จะตัดแต่งตามความรู้สึกตัวเอง
การคำนวณหาค่า Yield(ปริมาณวัตถุดิบที่นำไปใช้ได้) เป็นมาตรฐานและกำหนดวิธีการตัดแต่งในแต่ละวัตถุดิบก็เป็นการช่วยให้พนักงานครัวตัดแต่งได้ตามมาตรฐานของร้าน และช่วยให้ไม่เกิด Waste ที่ไม่จำเป็น
อีกวิธีที่ช่วยลด Waste ได้เป็นอย่างดีและช่วยลดภาระงานของพนักงานครัวลงไปด้วย ก็คือการซื้อวัตถุดิบที่ผ่านการตัดแต่งแล้วจากซัพพลายเออร์ ถึงแม้อาจมีต้นทุนที่สูงขึ้นบ้าง แต่หากเทียบกับเวลาและค่าแรงที่ประหยัดลงไปได้ก็อาจคุ้มกว่าในภาพรวม
สุดท้ายการนำวัตถุดิบที่ไม่ได้ใช้ (Leftover items) หรือ วัตถุดิบที่ผ่านการตัดแต่ง (Trimmed) เข่น เศษผัก เศษเนื้อ กระดูก มาสร้างเป็นเมนูใหม่ ก็จะช่วยทำให้ยอดขายร้านเพิ่มขึ้นและลด Waste ด้านวัตถุดิบลงไปได้ ยกตัวอย่างเช่น ร้านซูชิที่นำเศษปลาแซลมอนที่ติดกับกระดูกมาทำเป็นเมนูยำแซลมอน หรือหัวปลาแซลมอนที่ถูกตัดทิ้งมาทำเป็นหัวปลาต้มซีอิ๊ว ฯลฯ
เรียนรู้วิธีการเก็บวัตถุดิบแต่ละประเภทที่ถูกต้อง และคงคุณภาพวัตถุดิบให้สดใหม่อยู่เสมอ เพื่อยืดอายุการใช้งาน และให้ร้านมีกำไรมากขึ้น ในคอร์สเรียนออนไลน์ฟรี “เทคนิคการจัดเก็บวัตถุดิบอย่างมืออาชีพ” สอนโดย เชฟวิลเมนต์ ลีออง 
4. การปรุงอาหารมากเกินไป (Over Production) 
อีกหนึ่งสาเหตุที่ส่งผลต่อ Food waste ก็คือ การประเมินการขายที่ผิดพลาด ทำให้มีการเตรียมหรือปรุงวัตถุดิบมากเกินความต้องการ แทนที่จะทำทีลออเดอร์ตามที่ลูกค้าสั่ง แต่ทำเผื่อไว้ทีละปริมาณมาก ๆ เพราะคิดว่าทำครั้งเดียวจะประหยัดต้นทุนและเวลามากกว่า หรือโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ร้านอาหารประเภทบุฟเฟ่ต์ที่ต้องมีการเตรียมอาหารก่อนที่ลูกค้าจะมา ทำให้ต้นทุนวัตถุดิบสูงขึ้นทันที เพราะได้รายได้น้อยกว่าที่คาดการณ์ 
ซึ่งการวิเคราะห์สถิติการขายในแต่ละเมนูต่อวันอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยให้เชฟสามารถเตรียมอาหารได้พอดีกับความต้องการมากยิ่งขึ้น เพราะต่อให้ต้นทุนอาหารจานนั้นจะถูกแค่ไหน หากลูกค้าไม่เลือกตักหรือเลือกสั่ง ส่งผลให้บางครั้งร้านต้องทำโปรโมชั่นขายในราคาที่ถูกโดยไม่ได้กำไรเพราะกลัวอาหารหมดอายุ
5. การให้ปริมาณที่มากเกินไป (Over Portioning)
   บางครั้งการเสิร์ฟอาหารในปริมาณที่มากเกินไปให้ลูกค้า อาจไม่ได้เป็นข้อดีเสมอไป เพราะนอกจากลูกค้าจะทานไม่หมดหรือทานมากเกินความพอดีจนไม่สามารถสั่งเมนูอื่นทาน และทำให้ต้นทุนอาหารจานนั้นสูงขึ้นแล้ว รวมถึงยังทำให้อาหารที่เหลือกลายเป็น Waste ที่ต้องทิ้งไปโดยเปล่าประโยชน์ด้วย
สาเหตุเพราะร้านไม่ได้มีการกำหนดปริมาณวัตถุดิบต่อจาน หรือ Portion control ไว้ตั้งแต่แรก ทำให้อาหารเมนูเดียวกันที่ออกมาอาจมีปริมาณที่ไม่เท่ากัน
ซึ่งนอกจากการกำหนดปริมาณอาหารต่อจาน (Portion control) จะช่วยในการลด Waste แล้ว บุคคลสำคัญที่มีส่วนในการลด Waste นี้ก็คือพนักงานเสิร์ฟ เพราะจะเป็นคนที่เห็นว่าอาหารจานไหนที่ลูกค้าทานไม่หมดบ่อย ๆ หรือวัตถุดิบไหนที่อยู่บนจานแล้วลูกค้าไม่ค่อยทาน ก็สามารถบอกให้เชฟปรับรูปแบบหรือปริมาณให้เหมาะสมได้
อย่างไรก็ดีไม่ว่า Food waste จะเกิดด้วยสาเหตุใดก็ตาม จะเห็นว่าปัจจัยสำคัญที่ทำให้ร้านอาหารสามารถลด Waste ได้ก็คือตัวพนักงานเอง ตั้งแต่ขั้นตอนการสั่งวัตถุดิบ การจัดเก็บ การเตรียม การปรุง ไปจนถึงการเสิร์ฟ ฉะนั้นการเทรนนิ่งพนักงานให้เห็นถึงความสำคัญและวิธีการลด Food waste รวมถึงการติดตามอย่างต่อเนื่อง คือสิ่งสำคัญที่สุดที่จะทำให้ร้านสามารถลดโอกาสในการเกิด Food waste ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

คลิกอ่าน Zero Food Waste Program ลดต้นทุน เพิ่มกำไร เปิดสูตรลับลดขยะอาหาร
สามารถติดตาม  Zero Food Waste Program ลดต้นทุน เพิ่มกำไร เปิดสูตรลับลดขยะอาหารผ่านทาง Facebook : แม็คโคร โฮเรก้า อคาเดมี และเว็บไซต์ 
เพื่อเพิ่ม Know-how เพิ่มไอเดีย เพื่อให้ผู้ประกอบการร้านอาหาร นำไปพัฒนาธุรกิจให้แข็งแกร่งและสามารถ ‘อยู่รอด’ ได้ในสถานการณ์ปัจจุบันได้ และเรียนรู้วิธีลดขยะอาหารซึ่งจะช่วยลดต้นทุน สร้างกำไรให้มากขึ้น กับคอนเทนต์ออนไลน์เกี่ยวกับขยะอาหาร และวิธีการจัดการลดขยะอาหาร
นอกจากนี้ยังเรามีกิจกรรมไฮไลท์สำคัญ Zero Food Waste Workshop ซึ่งเป็น Workshop สุดพิเศษ ที่เปิดให้ผู้สนใจเข้าร่วมฟรี ในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2563 สามารถติดตามรายละเอียดได้ทาง Facebook : แม็คโคร โฮเรก้า อคาเดมี
คลิกอ่านบทความน่ารู้ จากแม็คโคร โฮเรก้า อคาเดมี
Explore more topics
Food Waste คืออะไรปัญหา Food west ในไทยวิธีแก้ปัญหา Food west

Keep reading

Get inspired by content for restaurants.

View All Articles
What categories interest you?